วันนี้เรามาทำความรู้จักร้านปันกัน คุณแนน สุพัตรา จั่นวิลัย หัวหน้างานร้านปันกัน สาขาโลตัสพระราม 1 และ คุณเบียร์ ณรงค์ศักดิ์ เสาทอง เจ้าหน้าที่ระดับผู้ชำนาญการ ร้านปันกัน สาขาโรบินสัน สมุทรปราการ ตัวแทนที่เข้าอบรมหลักสูตรการให้บริการที่เป็นเลิศสไตล์ปันกัน ที่ช่วยเสริมศักยภาพของพนักงานในการทำหน้าที่ผู้เชื่อมต่อกับคนจำนวนมากในการสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาสของมูลนิธิยุวพัฒน์กัน
หลักสูตรการบริการที่เป็นเลิศสไตล์ปันกัน ที่ฝ่าย HR และร้านปันกันจัดขึ้น เพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพพนักงานหน้าร้านทั้งด้านบุคลิกภาพ ทัศนคติ ความเข้าใจและทักษะการให้บริการแก่ผู้ปัน รวมถึงทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อสร้างมาตรฐานการให้บริการของร้านปันกันให้มีความเลิศเหมือนกันทุกสาขา
ทั้งคู่เล่าว่า หน้าที่ของเราจะปฏิบัติงานอยู่ที่หน้าร้าน ทุกๆ วันเราจะเจอผู้ปันหลากหลายประเภท ต้องสื่อสารให้ผู้ปันเข้าใจถึงเป้าหมายของร้านปันกัน ร้านปันกันปลูกฝังให้เรามีทัศนคติที่ดี เราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้เด็กมีโอกาสได้เรียนหนังสือ มีอนาคตที่สดใส ทำให้เราตั้งใจและมีความสุขในการทำงาน การอบรมที่จัดขึ้นทำให้เรามีวิธีในการรับมือกับปัญหาที่หลากหลาย เข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้งมากขึ้น ช่วยเพิ่มทักษะการจัดการอารมณ์เมื่อเกิดภาวะกดดันต่างๆ การเจรจา การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การใช้ภาษาการพูดที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ นอกจากจะใช้ในงานแล้วยังสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การสร้างบุคลิกภาพที่ดี การแต่งหน้าแต่งตัว การวางตัวและมารยาทในสถานการณ์ต่างๆ
คุณเบียร์ เสริมว่า “เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องรับมือ เช่น ผู้มาซื้อสินค้าหรือที่เรียกว่าผู้ปัน มีความต้องการบางอย่าง เช่นทำไมที่ร้านไม่แจกถุงใส่ของ การขอเปลี่ยนสินค้า การเจรจาหรือการรับมือกับอารมณ์ของผู้ปันเป็นเรื่องสำคัญ หลักสูตรนี้ฝึกให้เราสื่อสารให้เข้าใจว่าสินค้าที่มาจำหน่ายในร้านไม่ใช่สินค้าทั่วไป แต่เป็นสินค้าที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม คุณค่าของเงินที่พวกเขาจ่ายให้กับสินค้านั้นจะเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาให้กับน้องๆ ที่ด้อยโอกาส เมื่อลูกค้าทราบข้อมูลก็จะใจเย็นลง และเปิดใจฟังสิ่งที่พนักงานสื่อสารเรื่องคุณค่าของร้านปันกันมากขึ้น”
พนักงานปันกันคือตัวแทนสื่อสารเรื่องราว การสร้างคุณค่าในการสนับสนุนศึกษา
คุณฐาปนีย์ สินาดโยธารักษ์ ผู้อำนวยการร้านปันกัน เล่าว่า ปันกัน คือ แพลตฟอร์มสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม และพนักงานหน้าร้านคือคนสำคัญที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของปันกันให้กับผู้ปัน เราบอกพนักงานเสมอว่า เขาไม่ใช่แค่พนักงาน แต่คือผู้เชื่อมต่อโอกาสทางการศึกษา เชื่อมต่ออนาคตให้กับเด็ก ๆ และสื่อสารให้ผู้ปันเข้าใจว่า คุณสามารถช่วยสังคมของเราให้ดีขึ้นได้ด้วยการซื้อสินค้า แนะนำผู้ปันที่มาซื้อสินค้า หรือนำของมาแบ่งปัน รวมถึงอธิบายที่มาของสินค้าแต่ละชิ้นว่ามีที่มาอย่างไร เช่น ได้รับสนับสนุนจากคนดัง เซเล็ปหรือจากหน่วยงานเอกชนที่ร่วมระดมสิ่งของ เพื่อนำเสนอคุณค่าของร้านปันกันว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนสิ่งของจากคนที่ไม่ต้องการใช้แล้ว ส่งต่อเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ เน้นย้ำว่าผู้ปันทุกคนคือจุดเชื่อมต่อให้โอกาสทางการศึกษา นี่คือจุดเล็ก ๆ ที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันได้อย่างยั่งยืน
ด้านคุณตุ๊ก กัญธลีวัลย์ ช่วยบุญ ผู้เชี่ยวชาญงานด้านทรัพยากรบุคคล ผู้ร่วมคิดและเป็นวิทยากรในหลักสูตรนี้เล่าว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องปรับและปลูกฝังทัศนคติการทำงานของพนักงาน อธิบายความแตกต่างและคุณค่าของร้านปันกันกับร้านทั่วไป ทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้มาขายของแต่กำลังร่วมทำภารกิจส่งเสริมการศึกษาให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือ งานที่พวกเขาทำนั้นมีคุณค่าและมีความหมาย ทุกคนคือผู้เชื่อมต่อความดี เปรียบเหมือนท่อน้ำหล่อเลี้ยง ซึ่งน้ำจะถึงปลายทางได้อย่างสมบูรณ์หากท่อไม่รั่ว เหมือนกับการบริการที่ดีของร้านปันกัน ที่ต้องถูกส่งต่อถ่ายทอดเรื่องราวไปสู่ผู้ปัน เพื่อให้น้ำหล่อเลี้ยงเหล่านี้ไปสู่เด็กที่เป็นนักเรียนทุนได้อย่างสมบูรณ์
การอบรมจัดเป็นเวิร์คช็อปให้พวกเขาเรียนรู้และสนุก มีเนื้อหาครอบคลุม การสร้างเสริมทัศนคติในทำงานบริการที่เป็นหัวใจหลัก เทคนิคการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การสร้างความเข้าใจกับงานบริการที่ผู้ให้บริการต้องประสบพบเจอ การเจรจาปิดการขาย เรื่องบุคคลิกภาพ กิริยามารยาท การวางตัว การแต่งหน้า มีการจำลองสถานการณ์ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ต้องทำอย่างไร ซึ่งนอกจากเราเป็นวิทยากรแล้ว ยังได้ความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกบริษัทมาให้ความรู้ เช่น ทักษะการขายจากคุณอุดม ลีทัพไทย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กรและธุรการจัดซื้อ จาก บมจ. พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง, เทคนิคการแต่งหน้าจากแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำ เคเอ็มเอ (KMA) สังกัด บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) รวมถึงเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการรับมือจากผู้ปัน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากผู้บริจาคโดยคุณดารณี นุชแผน หัวหน้าโครงการงานสนับสนุนมูลนิธิยุวพัฒน์ เป็นต้น ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากพนักงานว่าได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น และนอกจากจะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีแล้ว พวกเขายังได้ทำงานเพื่อตอบแทนสังคม มีความสุขที่มีโอกาสช่วยเหลือสังคมในแบบที่พวกเขาทำได้ และมีความสุขกับการมาทำงานในทุกๆ วัน
งานที่ทำนั้นมีคุณค่าและมีความหมายต่อสังคม
คุณเบียร์และคุณแนนเล่าต่อว่า การบริการเป็นเลิศสำหรับเราคือการทำให้ผู้ปันเกิดความประทับใจและซื้อสินค้า และสามารถทำให้เขานำของกลับมาปันอีกครั้ง เพราะผู้ปันคือคนสำคัญของเรา หากไม่มีพวกเขา ร้านปันกันก็ดำเนินการต่อไม่ได้ การรับผิดชอบในตำแหน่งงานนี้สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ สติ คอยตั้งรับว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ต้องรับมืออย่างไร เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องมีด้วย เช่น หาไอเดียการจัดร้านให้ดึงดูดผู้ปันเข้ามาในร้าน จัดสินค้าให้น่าสนใจ การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานก็สำคัญ เราต้องช่วยกันแบ่งหน้าที่กันหาข้อมูลสินค้าแต่ละชิ้น สินค้าเราหลากหลายมาก บางครั้งเราไม่เคยรู้จักแบรนด์นี้ เราต้องใฝ่รู้หาข้อมูลเพื่อนำเสนอให้กับผู้ปันให้ได้ การอบรมครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจและรู้สึกได้ว่างานที่เรารับผิดชอบอยู่นั้นมีความหมาย มีความยิ่งใหญ่ มีคุณค่าต่อสังคม เราได้มายืนอยู่ตรงนี้ เราภูมิใจ และรู้สึกมีคุณค่า เพราะวันนี้เราไม่ได้รับผิดชอบแค่ตัวเราเอง แต่เรารับผิดชอบต่อสังคม เราคือตัวเชื่อมสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาในมูลนิธิได้มีโอกาสทางการศึกษาต่อไป