
ร้อยพลังการศึกษา" จับมือ "สพฐ"
จัดประชุม "ผอ." 95 ร.ร.ในเครือข่ายเชื่อมต่อพลัง "ชุมชน" หนุนนักเรียน
ร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ผู้อำนวยการ” จาก 95 โรงเรียนในเครือข่ายจากทั่วประเทศ เข้าร่วมระดมความเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนงานสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนานักเรียนในโครงการกว่า 3 แสนคน
ต่อเนื่องจาก การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกลไกภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กับกลไกภาคประชาชนโดยมูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อขยายผล 8 เครื่องมือและนวัตกรรมพัฒนานักเรียนภายใต้ “โครงการร้อยพลังการศึกษา” เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมานั้น เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2568 ทั้งสองภาคส่วนได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา โครงการร้อยพลังการศึกษา โดยมีผู้อำนวยการจาก 95 โรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม ภายใต้แนวคิด “พลังความร่วมมือของโรงเรียนและชุมชนในการพัฒนานักเรียน” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทาราไลฟ์ ศูนย์ราชการ และ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ด้วยตระหนักว่า โรงเรียนและชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนานักเรียน แม้จะเคยมีงานวิจัยที่ ระบุว่า “เด็กไทย 7 ใน 10 คน อยู่ในครัวเรือนรายได้น้อย หรือมีรายได้ต่ำกว่า 8,333 บาท/คน/เดือน แต่ไม่ได้หมายความว่า “ทุนเงิน” เพียงปัจจัยเดียวที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาและการประคับประครองเยาวชนให้อยู่ในระบบการศึกษา เพราะยังมี “ทุนประเภทอื่น” ด้วยที่เป็นตัวช่วยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทุนมนุษย์” หรือ “ทุนเครือข่าย” ในพื้นที่ นั่นก็คือ โรงเรียนและชุมชนเพราะมีความใกล้ชิดกับนักเรียนอย่างแน่นแฟ้น”
ที่ผ่านมา แม้โครงการจะมีเครื่องมือและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และนักเรียนเป็นอย่างดี แต่ยังมีความท้าทายที่ส่งผลให้เครื่องมือต่างๆ ยังใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและไม่ต่อเนื่อง เช่น ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ ที่ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักเรียน ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ปัญหาความเข้าใจของครอบครัว ฯลฯ โครงการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในชุมชน และพยายามชักชวนให้โรงเรียนทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจของผู้ปกครองและชุมชน การระดมทรัพยากรจากเครือข่ายและภาคส่วนต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนร่วมติดตามดูแลประคับประคองการเรียนและพฤติกรรมของนักเรียน การระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายร่วมวางแผนกิจกรรม ร่วมลงมือปฏิบัติ และการประเมินผลการพัฒนานักเรียนร่วมกัน เป็นต้น
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ผู้บริหารโรงเรียนในโครงการได้ร่วมรับฟังนโยบายและวิสัยทัศน์หัวข้อ “ความสำคัญของพลังความร่วมมือของโรงเรียนและชุมชนในการพัฒนาโรงเรียน” โดย ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่สะท้อนความเข้มแข็งของเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเชื่อว่าผู้บริหารที่มาร่วมงานเป็นพลังสำคัญในการผสานความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ การดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างคุณภาพโรงเรียน ด้วยการสนับสนุนจากภาคีร้อยพลังการศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนกว่า 100 โรงเรียน ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกลไกคุณภาพ โอกาส และมาตรฐานการศึกษาที่ดี รวมถึงแนวคิดของ สพฐ. “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ที่ใช้กลไกความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง ภาครัฐ และเอกชน ดังตัวอย่างการลงนาม MOU กับมูลนิธิยุวพัฒน์ในปี 2567 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา ดังนั้นต่อไปข้างหน้าจึงต้องอาศัยความร่วมมือทุกระดับ ทั้งส่วนกลาง เขตพื้นที่ โรงเรียน ผู้บริหาร และครู เพื่อให้เกิดการใช้เครื่องมืออย่างมีประสิทธิผล พัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพ คุณธรรม และทักษะชีวิตที่แข็งแรง พร้อมเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า ทุกท่านคงได้ทราบถึงความท้าทายที่เราพบอยู่ ทั้งด้านเศรษฐกิจที่มีความยากลำบากขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการเจริญเติบโตที่ไม่แข็งแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม ความเป็นนิติรัฐ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นเรื่องที่น่ากังวล และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาภัยพิบัติ และปัญหาคุณภาพทางการศึกษาที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เรายังโรงเรียนจำนวนมากที่ยังขาดทรัพยากรที่จำเป็นและเหมาะสมในกาพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน จึงเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าคนนอกระบบการศึกษาอย่างพวกเรามองเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนรวม เป็นเรื่องของเรา เราไม่ได้แค่เป็นคนพึ่งพา และปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
“ผมเชื่อว่าปัจจัยร่วมที่เราต้องดำเนินการ เพื่อให้ปัญหาและความท้าทายเหล่านี้ทุเลาลง คือการที่เราต้องเตรียมพร้อมทรัพยากรมนุษย์ เด็กในอนาคตมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีขีดความสามารถ มีศักยภาพที่จะดูแลตนเอง และคนรอบข้าง และสังคม และมีภูมิคุ้มกันของปัญหาต่างๆ ในสังคม เราจะต้องลงทุน ลงแรง กับทรัพยากรมนุษย์ให้เขามีความเข้มแข็งมากขึ้น”
ด้านกระบวนการทำงาน เราทุกคนมีความเชื่อว่า เราต่างคนต่างทำ อาจจะทำให้เราพัฒนาหรือก้าวข้ามอุปสรรคได้ไม่เต็มที่สมบูรณ์ เราต้องมาผนึกกำลังกัน ทั้งท่านที่อยู่ในระบบการศึกษา และทุกคนที่ล้วนมีส่วนได้เสียกับอนาคตของประเทศชาติด้วยเช่นกัน ดังนั้นกระบวนการของการร้อยเรียงพลังน่าจะสำคัญที่สุด ทำให้เรามีโอกาสส่งมอบสิ่งที่ดีให้กับอนาคตของประเทศ หนึ่งในตัวอย่างความร่วมมือของงานร้อยพลังการศึกษา เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสร้างอนาคตที่ดีสำหรับเด็กไทยอย่างยั่งยืน ผ่านเครื่องมือและนวัตกรรมพัฒนานักเรียนโดยภาคีที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทำงานร่วมกับโรงเรียนที่มีความต้องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและพัฒนานักเรียน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา นับจากเริ่มพัฒนาโครงการตั้งแต่ ปี 2558 ปัจจุบันมี 8 เครื่องมือ ประกอบด้วย ทุนการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ สื่อดิจิทัล วิชาคณิตศาสตร์ และ วิชาวิทยาศาสตร์ Learn Education สื่อดิจิทัล วิชาภาษาอังกฤษ Winner English ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ โครงการพัฒนาเด็กประถมวัย ICAP แพลตฟอร์มแนะแนว a-chieve โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ โครงการ FOOD FOR GOOD มีจำนวนเด็กที่ได้รับโอกาสกว่า 320,000 คน
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/get-involved/collaborationforeducation/