การประเมินคุณค่าบริการระบบนิเวศ
เพื่อการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างจริงจังและยั่งยืน โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า     มีวนา จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO)

จัดทำการประเมินคุณค่าบริการระบบนิเวศ ในพื้นที่โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า . เชียงราย 

สรุปมูลค่าบริการระบบนิเวศของพื้นที่ในโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า มีวนา พื้นที่ 4,671.25 ไร่

คิดเป็นมูลค่า 555,468,585.90 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 118,912 บาท ต่อไร่ ต่อปี

ตัวเลขนี้มาจากไหน และการเก็บข้อมูลทำอย่างไรคุณธวัชชัย  โตสิตระกูล  ที่ปรึกษา งานรับรองระบบมาตรฐาน และคุณคมศักดิ์ เดชดี ผู้จัดการทั่วไป งานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และแปรรูปเมล็ดกาแฟ เล่าถึงที่มาและขั้นตอนการทำงานของมีวนา และวิธีที่ชาวพรีเมียร์จะมีส่วนร่วมในการรักษาป่าต้นน้ำ ในคอลัมน์ “Mivana เล่าเรื่อง Core Value”

คุณธวัชชัย เล่าว่า บริษัท มีวนา ดำเนินธุรกิจกาแฟอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2555 ส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงรายปลูกกาแฟในระบบเกษตรอินทรีย์ และรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรเพื่อแปรรูปและจำหน่าย โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นกิจการเพื่อสังคม คือ ทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเกษตรกร พร้อมกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3 แห่งคือ ต้นน้ำแม่ลาว ต้นน้ำแม่สรวย และต้นน้ำแม่กรณ์  ด้วยพื้นที่ป่าต้นน้ำทั้งหมด 4,671.25 ไร่ เราแบ่งเป็นพื้นที่ในการพัฒนา 2 รูปแบบคือ 1) พื้นที่ป่าเดิมที่อนุรักษ์ไว้แล้วจึงมีการปลูกกาแฟเสริม กับ           2) การปลูกต้นไม้เสริมในพื้นที่ป่าฟื้นฟูที่มีสวนกาแฟอยู่แล้วเพื่อให้ร่มเงาสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ

คุณคมศักดิ์ เล่าว่าการประเมินคุณค่าและมูลค่าความหลากหลายของระบบนิเวศนี้ ทำขึ้นเมื่อเดือนเม..- .. ที่ผ่านมา เราได้รับเกียรติจาก ดร. พงษ์ศักดิ์ วิสวัสชุติกุล เป็นที่ปรึกษาและให้ความรู้ ซึ่งทีมงานมีวนาต้องผ่านการอบรมจาก BEDO ความท้าทายของการทำงานนี้  คือข้อมูลที่เก็บต้องมีความละเอียด ถูกต้อง ซึ่งบางพื้นที่มีความลาดชัน มาก เมื่อฝนตกก็ทำให้พื้นที่มีความลื่นกว่าปกติ และทีมงานต้องเก็บวัดผลอย่างต่อเนื่องตลอดการทำงานเพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์ประมวลผลได้ตามหลักการ เราได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรที่มีความชำนาญและเข้าใจสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ ทำให้ทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและสามารถวัดผลได้ตามที่ต้องการ

  1. กำหนดพื้นที่แปลงทดลองขนาด 20×40 ตารางเมตรในพื้นที่ต้นน้ำทั้ง 3 แห่ง
  2. ติดเครื่องหมายเลขที่ต้นไม้ในแปลงทดลอง ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 1.30 เมตรจากผิวดิน มากกว่า 4.5 เซนติเมตร  และต้นไม้ที่มีความสูงทั้งหมดของต้นมากกว่า 1.30 เมตร
  3. วัดความสูงของต้นไม้ (H)
  4. วัดความสูงของลำต้นจากจุดที่เป็นกิ่งแรกของต้นไม้
  5. วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของเรือนยอดของต้นไม้ทุกต้น
  6. วัดข้อมูลความลึกของชั้นดิน 
  7. เก็บข้อมูลเสริม 2 ส่วน คือ ปริมาณน้ำฝนรายปี (Ra)  และ ข้อมูลลักษณะภูมิประเทศ (CNt) เพราะเป็นปัจจัยโครงสร้างของระบบนิเวศต้นน้ำที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหลของน้ำผิวดิน ควบคุมการกัดชะพังทลายของดิน และศึกษาสภาพอากาศของพื้นที่

โดยผลลัพธ์ของการประเมินคุณค่าระบบนิเวศ นี้คิดเป็นมูลค่า 555 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 118,912 บาท ต่อไร่ ต่อปี เป็นตัวเลขในเชิงคณิตศาสตร์ที่เราวัดทั้งความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ และการลดความสูญเสียของดินและสารอาหารที่จำเป็นต่อต้นไม้ และปัจจัยอื่นๆ  หากจะอธิบายให้เข้าใจง่าย คือ เมื่อเราปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น มีพื้นที่ป่าต้นน้ำมากขึ้น ประโยชน์ที่จะได้รับคือ การชะลอปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์จะช่วยเก็บกักน้ำฝนลงสู่ผืนดินได้นานขึ้น ช่วยบรรเทาความรุนแรงของสภาพอากาศ นอกจากนี้ต้นไม้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย  ที่สำคัญคือเมื่อพื้นที่ป่าต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศของผืนป่าก็จะกลับมา เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชพันธุ์ไม้ รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่จำเป็นต่อระบบนิเวศก็จะกลับคืนมาเช่นกัน

นอกจากนี้การปลูกกาแฟในพื้นที่ป่าของมีวนา เรายังมีการประเมินมูลค่าบริการระบบนิเวศฯ ด้วยการเรียงลำดับความหลากหลายของพันธุ์ไม้และร่มเงา (Shade Grown) เป็น 4 ระดับจากมากไปน้อยอีกด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ป่ามากขึ้นในทุกปี เพราะหากต้นไม้มีการเติบโตสูงมากขึ้น และช่วยสร้างร่มเงาในพื้นที่ป่ามากขึ้นเท่าไหร่ สมาชิกก็จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

นอกจากการวัดประโยชน์ในด้านความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าแล้วเกษตรกรยังได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ที่เราส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชน เช่น อะโวคาโด โกโก้ พลับ และอีกมากมาย และประโยชน์ในเชิงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรก็ดีขึ้น  มีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ลดใช้สารเคมี และทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่า ร่วมกับภาครัฐ มีพื้นที่ทำกินและสร้างคุณค่า เป็นวิถีที่คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

คุณธวัชชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า  จากผลลัพธ์ของการร่วมรักษาป่าต้นน้ำและเกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในเชิงประจักษ์ ทำให้บริษัท มีวนาได้รับโล่เกียรติคุณจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานที่มีการดำเนินกิจกรรมการตอบแทนคุณระบบนิเวศ (PES) และกิจกรรมการประเมินคุณค่าระบบนิเวศ ถือเป็นความภาคภูมิใจของมีวนาและเกษตรกรทุกคน และการทำงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลครั้งนี้ ทำให้ทีมงานได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้ทางวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญของ BEDO ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำต่อไปในอนาคต

คุณคมศักดิ์กล่าวส่งท้ายว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ คือ การเกื้อกูล สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ ในการทำงานร่วมกันในระยะเวลานาน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน หากชาวพรีเมียร์ที่ต้องการร่วมเรียนรู้วิถีการทำงานของมีวนา ก็มีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการทำแนวกันไฟป่า การปลูกป่า การบวชป่าซึ่งเราจัดเป็นประจำทุกปี หรือเพียงแค่ร่วมบอกต่อเล่าเรื่องราวของมีวนาให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ก็ช่วยขยายผลการทำงานของมีวนาได้แล้วเช่นกัน

This site is registered on wpml.org as a development site.