PM Food

การสร้างความมั่นคงทางอาหาร
แผนธุรกิจสู่ความยั่งยืนของ พี.เอม.ฟูด

ปัญหาอาหารกลางวันในโรงเรียนขาดคุณภาพ ข่าวถาดหลุมของเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่มีแต่ข้าวและน้ำผัก ฯลฯ เป็นสิ่งที่เราเห็นจนชินตา และเป็นปัญหาหมักหมมที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยมาต่อเนื่อง หากมองไปถึงสาเหตุนั้น ก็เกิดขึ้นทั้งจากการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน การขาดความรู้ด้านโภชนาการของครูและโรงเรียน การขาดแคลนบุคลากรที่จะทำงานดูแลด้านโภชนาการให้กับเด็ก การขาดแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตรที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และอีกมากมาย ส่งผลให้เด็กไทยกว่า 2.9 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 6-14 ปี ขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ 

ปัญหาเหล่านี้ ฟู้ดฟอร์กู๊ด ได้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาที่ทีม ฟู้ดฟอร์กู๊ด ได้นำเสนอกระบวนการทำงานและสิ่งที่ต้องการความร่วมมือกับพนักงานและผู้บริหารจากทุกสายธุรกิจที่งานคนจริง X มูลนิธิ ร่วมสร้างสังคมดี  ร่วมกับหลายหน่วยงานในสายงานพัฒนาความยั่งยืนของสังคม จุดประกายให้คุณเก่งและทีมงานของ พี.เอม.ฟูด ผู้ผลิตปลาสวรรค์ทาโร ได้เห็นช่องทางในการร่วมสนับสนุนด้านอาหารและโภชนาการให้กับเด็กไทย และต่อยอดสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่ในอนาคตเลยทีเดียว 

คุณเก่ง วิภาส เล่าที่มาให้เราฟังว่า พี.เอม.ฟูด เป็นบริษัทที่ผลิตปลาสวรรค์ทาโร ซึ่งเป็นขนมขบเคี้ยวที่มีโปรตีนจากเนื้อปลา เป็นขนมที่เด็กๆ ชื่นชอบและมีประโยชน์ ที่ผ่านมาบริษัทมองถึงเรื่องการสร้างความยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร การจัดการและใช้ทรัพยากรให้มีความคุ้มค่ามากที่สุด มาโดยตลอด ทั้งการส่งเสริมการพัฒนาความยั่งยืนของแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำ ที่บริษัทจะเป็นหัวขบวนในการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งที่มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในห่วงโซ่เพื่อใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรในกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากส่วนที่เหลือในกระบวนการผลิต ที่อยู่ในกระบวนการวิจัย เช่น FISH ESSENCE รวมถึงแผนงานรีไซเคิลซองทาโรที่เป็นแผนงานระยะยาวที่ต้องการความร่วมมือขนาดใหญ่ เป็นต้น

เมื่อได้เข้าร่วมงานคนจริง เมื่อปีที่ผ่านมา และได้ฟังทีม ฟู้ดฟอร์กู๊ด เล่าถึงการทำงาน ก็เหมือนภาพที่ต่อกันติดอย่างรวดเร็ว ว่าพี.เอม.ฟูด สามารถช่วยได้จากการดำเนินธุรกิจของเราเอง จึงได้กลับมาหารือกับทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ พบว่ากระบวนการผลิตสินค้าทาโรโรล ที่ต้องมีมาตรฐานความยาว 2 เมตรพอดี เป็นคุณภาพที่เรายึดมั่นกับลูกค้าที่ต้องส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุด แต่ส่วนที่เหลือนั้น ก็เป็นวัตถุดิบที่อยู่ในกระบวนการผลิต ที่ยังมีสารอาหารครบถ้วน  เราสามารถที่จะดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เสริมสร้างโปรตีนให้กับเด็กๆได้ เป็นการทำงานไม่เพียงแค่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ แต่ยังช่วยลดต้นทุนด้านการจัดการของเสียอีกด้วย สอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และใช้ความเชี่ยวชาญที่เรามีเพื่อไปช่วยแก้ปัญหาสังคม เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ที่จะดำเนินการในปี 2566 นี้ 

คุณปูน้อย จิตราภรณ์ โสวภาส ผู้จัดการฝ่ายประกันคุณภาพ เล่าว่าจากที่ได้ฟังคุณวิเชียรนำเสนอในประชุมใหญ่พนักงาน (งาน TOWNHALL)  ประโยคที่ว่าเราจะต้องนำธุระของสังคมมาเป็นเรื่องของเรา เราต้องไม่นิ่งดูดายกับปัญหาจุดประกายให้เราอยากมีส่วนร่วมในงานภาคสังคมมากกว่าการบริจาค และการทำงานของเราก็สอดคล้องกับฟู้ดฟอร์กู๊ด ด้านอาหารและโภชนาการที่ดีอยู่แล้ว จึงได้ร่วมกันคิดและพัฒนากับทีม ในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ในกระบวนการผลิต มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนโภชนาการที่ดีของเด็กนักเรียน   ซึ่งการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ในกระบวนการผลิต เป็นงานที่เราเชี่ยวชาญ โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนในการผลิตหรือเพิ่มเครื่องจักร เพียงเพิ่มกำลังคนในการดำเนินการเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างประโยชน์ ให้เด็กที่จะได้รับประทานอาหารที่มีโภชนาการที่ดี เติบโตสมวัยได้เท่าทวีคูณ ซึ่งเราทำงานร่วมกับฟู้ดฟอร์กู๊ด และบมจ. พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง มาตั้งแต่เดือนต.. 2565  ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดลองผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของโรงเรียน 

ทว่าหลังจากที่ได้นำเสนอแผนการทำงานที่จะเข้าไปช่วยเหลือเด็กในโครงการฟู้ดฟอร์กู๊ด ทีมพี.เอม.ฟูด ก็ได้รับคำแนะนำว่าการผลิตภัณฑ์ที่ทีมได้ทดลองพัฒนาขึ้นมานี้ สามารถขยายผลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product) ออกสู่ตลาดให้กับสายธุรกิจอุปโภคบริโภคได้ ทำให้พี.เอม.ฟูด และพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง สามารถขยายธุรกิจจากผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ไปสู่ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารได้ในอนาคต

คุณเก่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนของพี.เอม.ฟูด ในปี 2566 เรามีแผนใหญ่ๆ อยู่ 3 ด้าน คือ
การเพิมผลิตภาพการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมีความยั่งยืน  – การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคม เรามุ่งเน้นและเอาใจใส่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ การพัฒนาแผนการทำงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ การลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต และการเลือกใช้การจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมีความยั่งยืน  เป็นการลดความเสี่ยงโดยการบริหารจัดการแหล่งวัตถุดิบ ใช้ทรัพยากรให้มีความคุ้มค่ามากที่สุด และการบริหารปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 

  • การเพิ่มผลิตภาพ 
  • การพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมีความยั่งยืน  
  • การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคม

คุณเก่งกล่าวสรุปในตอนท้ายว่าคุณค่าหลักเป็นที่บริษัทยึดถือในการทำงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพที่นอกจากการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค ยังมีมิติของคุณภาพของพนักงาน ที่จะต้องมีความรู้จริงในเรื่องที่จะทำ ทำงานบนพื้นฐานของข้อมูล รวมทั้งมีใจ ในความหมายคือ มีความเต็มใจ ลงมือทำ ช่วยกันเป็นทีม และพร้อมที่จะก้าวออกมาทำงานที่นอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบ มาร่วมกับงานภาคสังคม หรืองานสร้างความร่วมมือกับทุกๆ ฝ่าย 

สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แผนงานสำเร็จของบริษัทตามเป้าหมายจากความร่วมมือของทุกคน รวมถึงหน่วยงานภาคสังคม บริษัทต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของเรา ล้วนแต่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หากเราเปิดโอกาสให้ตนเองได้ทำงาน  ต่อยอดสิ่งที่เราทำอยู่ให้ดีขึ้น หรือคิดสิ่งใหม่ๆที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน จะให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมเพิ่มขึ้นได้อีกมาก  จากแผนงานทั้ง 3 ส่วน เรามุ่งหวังสร้างความสำเร็จทั้งในด้านธุรกิจ  พนักงานได้มีโอกาสส่งมอบคุณค่าสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม เป็นแบบอย่างที่ดี ให้เกิดการขยายผลต่อเนื่องในห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันอย่างยั่งยืนครับ

This site is registered on wpml.org as a development site.